หน่วยที่ 6 นวัตกรรมการเรียนการสอน
บทเรียนสำเร็จรูป
บทเรียนสำเร็จรูป หมายถึง บทเรียนที่ผู้สอนจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ในแต่ละสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในแต่ละบทเรียน โดยเริ่มจากเนื้อหาสาระที่ง่าย ๆ ไปสู่เนื้อหาที่ยากขึ้นไปตามลำดับ เป็นบทเรียนที่สร้างขึ้นโดยกำหนดวัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีการ และสื่อการเรียนการสอนไว้ล่วงหน้า ผู้เรียนสามารถศึกษา ค้นคว้า และประเมินผลการเรียนด้วยตนเองตามขั้นตอนที่กำหนดไว้
จุดมุ่งหมายของบทเรียนสำเร็จรูป
1. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประกอบกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเต็มความสามารถ โดยครูคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือเมื่อผู้เรียนมีปัญหา
2. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปตามลำดับขั้น จากง่ายไปหายาก
3. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประเมินตนเอง และทราบถึงพัฒนาการในการเรียนรู้ของตนเอง
4. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจ เมื่อประสบความสำเร็จในการเรียนรู้
หลักการเรียนรู้ด้วยบทเรียนสำเร็จรูป
1. ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรม หรือมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรม
2. ผู้เรียนได้ประเมินตนเอง และรู้คำตอบได้ทันที
3. มีการเสริมแรงให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจเมื่อสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง และมีความพยายามที่จะแก้ไขส่วนที่บกพร่อง
4. ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปที่ละลำดับ จากง่ายไปยากตามศักยภาพและความสามารถของ แต่ละคน
ลักษณะของบทเรียนสำเร็จรูป
ลักษณะสำคัญของบทเรียนสำเร็จรูป คือ การออกแบบการบรรจุเนื้อหาและสาระการเรียนรู้ออกเป็น กรอบ (Frame) ซึ่งเนื้อหาและสาระการเรียนรู้ดังกล่าวนั้นจะนำมาจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้ย่อย ๆ แล้วบรรจุเนื้อหาสาระการเรียนรู้หน่วยย่อย ๆ ดังกล่าวลงไปในกรอบแต่ละกรอบให้มีความสัมพันธ์และเรียงลำดับเนื้อหาจากง่ายไปยาก กรอบสาระการเรียนรู้ (Frame) ในแต่ละกรอบของบทเรียนสำเร็จรูปประกอบด้วย
1. การอธิบายเนื้อหา
2. แบบประเมินผลก่อนเรียน
3. เนื้อหาสาระและกิจกรรมการเรียนรู้
4. คำถาม
5. เฉลยคำตอบ
6. แบบประเมินผลหลังเรียน
ชนิดของกรอบในบทเรียนสำเร็จรูป
กรอบสาระการเรียนรู้ในบทเรียนสำเร็จรูปกำหนดไว้ 4 ชนิด ดังนี้
1. กรอบตั้งต้น (Set Frame) เป็นกรอบที่เป็นเสมือนกรอบนำเข้าสู่บทเรียน
2. กรอบฝึกหัด (Practice Frame) เป็นกรอบที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกหัดทำกิจกรรมที่มีเนื้อหาสาระเชื่อมโยงมาจากรอบตั้งต้น ในกรอบฝึกหัดนี้เป็นกรอบสำหรับการฝึกทักษะ
3. กรอบรองกรอบส่งท้าย (Sub-Terminal Frame) เป็นกรอบการเรียนรู้ก่อนที่จะถึงกรอบการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนได้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้มาตามลำดับ
4. . กรอบส่งท้าย (Terminal Frame) เป็นกรอบสาระการเรียนรู้สรุปสุดท้าย หรือกรอบจบของบทเรียนสำเร็จรูป เป็นกรอบที่มีเนื้อหาสาระเข้มข้น และยากกว่ากรอบสาระการเรียนรู้อื่นที่ผ่านมา
ชนิดของบทเรียนสำเร็จรูป
ในปัจจุบันบทเรียนสำเร็จรูปที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มี 3 ชนิด ได้แก่
1. บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง (Linear Programme)
2. บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา (Branchine Programme)
3. บทเรียนสำเร็จรูปแบบไม่แยกกรอบ
ทฤษฎีจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนสำเร็จรูป
ธอร์นไดด์ เป็นนักจิตวิทยาและนักศึกษา ได้ให้กำเนิดทฤษฎีการเรียนรู้ที่เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง เรียกทฤษฎีนี้ว่า ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (connectionism theory) โดยเชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการที่มนุษย์หรือสัตว์ ได้เลือกเอาปฏิกิริยาตอบสนองที่ถูกต้องมาเชื่อมต่อเข้ากับสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม โดยอาศัยกฎการเรียนรู้ 3 กฎ
1. กฎแห่งความพร้อม (law of readiness)
2. กฎแห่งการฝึกหัด (law of exercise)
3. การตอบสนอง
บรูเนอร์เสนอว่าการที่จะนำเนื้อหาใดมาสอนควรพิจารณาดูว่าขณะนี้นักเรียนมีพัฒนาการในระดับใด เพื่อปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับความสามารถของเด็ก หรือรับรู้ได้โดยวิธีการที่เหมาะสมกับเด็กวัยนั้น โดยมีหลักการสำคัญดังนี้
1. เนื้อหาวิชาควรแบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ จัดลำดับให้เหมาะสมกับผู้เรียน
2. สอนโดยคำนึงถึงความพร้อมและแรงจูงใจของผู้เรียน
3. การเสนอกิจกรรมที่ให้เกิดการเรียนรู้แบ่งเป็น 3 ขั้น คือ ขั้นลงมือปฏิบัติจริง ขั้นเรียนรู้จากรูปแบบและใช้จินตนาการ ขั้นการใช้สัญลักษณ์และตัวเลขในการแทนคำ
4. วิธีสอนที่จะให้ผู้เรียนมีความรู้คงทนและถ่ายโยงการเรียนรู้ได้ คือ วิธีสอนแบบค้นพบด้วยตนเอง
5. การจัดกิจกรรมและประสบการณ์การเรียนต้องให้ท้าทายความคิดและการกระทำ
6. การเรียนรู้ “กระบวนการ” สำคัญมากกว่าการเรียนรู้เนื้อหา
กาเย่ เสนอหลักการเรียนรู้ 8 ขั้น ดังนี้
1. การเรียนรู้โดยสัญญาณ
2. การเรียนรู้แบบตอบสนองต่อสิ่งเร้า
3. การเรียนแบบลูกโซ่ เช่น การฝึกให้เด็กติดกระดุมเสื้อ
4. การเรียนรู้โดยใช้ภาษาอย่างต่อเนื่อง
5. การเรียนรู้โดยการจำแนก
6. การเรียนรู้มโนทัศน์
7. การเรียนรู้
8. การเรียนรู้แบบแก้ปัญหา
ข้อดีและข้อบกพร่องของ บทเรียนสำเร็จรุป
บทเรียนสำเร็จรูป ก็เหมือนสิ่งของทั้งหลายที่ย่อมมีทั้งข้อดี และข้อบกพร่อง จึงควรจะได้ทราบทั้งข้อดี และข้อเสียไว้บ้าง คือ
ข้อดี
1. นักเรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเอง, ฝึกให้รู้จักเป็นคนมีความรับผิดชอบ และดำเนินไปตามความสามารถของตน คล้ายกับนักเรียนได้มีโอกาสเรียนกับครูแบบตัวต่อตัว
2. ช่วยให้ครูทำงานน้อยลงในด้านการสอนข้อเท็จจริงต่างๆ ครูจะมีโอกาสใช้เวลาเหล่านั้นไปในการเตรียมบทเรียนอื่นๆ ให้ก้าวหน้า หรือใช้เวลาในการดูแลการเรียนของนักเรียนแต่ละคนได้มากขึ้น
3. ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนเพราะมีการเร้าให้ตอบและมีกำลังใจเมื่อตอบถูก โดยที่แม้ตอบผิดก็ไม่มีผู้อื่นเยาะเย้ยเพราะไม่มีผู้อื่นทราบ และเมื่อตอบผิดแล้ว ก็สามารถจะแก้ไขความเข้าใจผิดได้ทันทีด้วยตัวเอง
4. สนองความสามารถและความแตกต่างระหว่างนักเรียน นักเรียนที่เรียนช้าจะมีโอกาสได้ทบทวนศึกษา แต่นักเรียนที่เรียนได้เร็วก็จะมีโอกาสใช้เวลาไปศึกษาเรื่องอื่นๆ ไม่ต้องรอเพื่อนที่เรียนช้า
5. เป็นการแก้วิธีการศึกษาในปัจจุปัน ที่นักเรียนมักขาดเรียนเมื่อครูสอนหรือมัวแต่ไปทำกิจกรรมอื่นๆในชั่วโมงเรียนปกติ ให้มีโอกาสได้เรียนรู้ทันเพื่อนๆได้
6. ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในวิชาพิเศษ หรือครูมีภารกิจอื่นๆ ไม่สามารถเข้าสอนได้
7. เป็นการทุ่นเวลาในการสอนบทเรียนหนึ่ง ๆ เพราะผลจากการวิจัยพบว่าบทเรียนสำเร็จรูป สามารถสอนเนื้อหาได้มากเท่ากับวิธีสอนอย่างอื่นโดยใช้เวลาน้อยกว่า ดังนั้นหากครูสามารถจำกัดเวลาสอนให้เหลือได้ ก็อาจป้อนเนื้อหาวิชาเพิ่มเติมให้มากขึ้นได้ ซึ่งครูส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการเขียนกระดานมาก
8. เวลาที่นักเรียนแต่ละคนใช้ในการทำบทเรียน จะเป็นเครื่องวัดแสดงถึงความแตกต่างระหว่างนักเรียนในชั้น จึงเป็นการประเมินผลการเรียนของนักเรียนได้ง่าย
ข้อบกพร่อง
1. ไม่อาจใช้แทนครูได้โดยสิ้นเชิง เพราะนักเรียนยังต้องการคำชี้แจง แนะนำจากครูอยู่อีกมาก
2. เนื้อหาวิชาบางวิชาที่ต้องการผลสนองตอบในแง่ความคิด เช่น เรียงความจะใช้ไม่ได้ผล
3. การที่นักเรียนมีความแตกต่างระหว่างบุคคลนั้น นักเรียนเก่งอาจทำเสร็จไว้ก่อนแล้ว หรือเคยศึกษาล่วงหน้าไว้ก่อนจะไม่มีอะไรทำอีก ทำให้เบื่อหน่าย หรืออาจไม่สนใจเข้าเรียนในชั่วโมงเรียนเพื่อหวังว่าจะไปเรียนจากโปรแกรมก็ได้ ดังนั้นครูผู้ควบคุมจึงต้องระวังควบคุมและคอยเพิ่มเติมงานอื่นพิเศษให้เขาได้ศึกษาเพิ่มเติมด้วย ( ไม่ควรให้นักเรียนได้เรียนก่อนที่ครูจะอนุญาตให้เข้าดูเป็นเรื่องๆไป )
4. บทเรียนสำเร็จรูป เป็นสิ่งที่ครูสร้างขึ้น ย่อมไม่วิเศษไปกว่าครู บทเรียนบางบทก็ไม่สนองให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ ทำให้เสียเวลาและสร้างความสับสน หากไม่มีการวิเคราะห์จัดหาให้ถูกต้อง (ครูจะต้องติดตามสอดส่องดูแลและประเมินผลอย่างใกล้ชิด )
ข้อควรระวังในการใช้ บทเรียนสำเร็จรูป
จะต้องคำนึงเสมอว่า เมื่อจะใช้บทเรียนสำเร็จรูปในการสอนนั้น ก็เพราะต้องการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นในขณะดูหรืออ่านเฟรมไปแต่ละเฟรมพร้อมๆกับตอบคำถามที่ถามอยู่เป็นการเช็คว่านักเรียนได้เข้าใจในเรื่องนั้นๆ หรือไม่และต้องคำนึงเสมอว่าบทเรียนสำเร็จรูป ไม่ใช่ข้อสอบ ที่จะใช้วัดผลความรู้ของนักเรียน ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น สาเหตุเพราะว่าก่อนที่จะให้นักเรียนได้เรียนบทเรียนสำเร็จรูปนั้น จะต้องทดสอบชุดหนึ่งให้นักเรียนได้ทำก่อน เป็นแบบข้อสอบเพื่อทดสอบว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้นๆมาแล้วเพียงใด ข้อสอบนี้เรียกว่า Pre - test ( ควรทดสอบความรู้ในการใช้ บทเรียนสำเร็จรูปด้วย )
สวัสดีค่ะผู้เข้าเยี่ยมชมทุกท่าน บล็อกนี้จัดทำขึ้นมาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการเรียนการสอนในรายวิชา นวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา ภาคเรียนที่ 1/2556 สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3
โครงการสอน
รหัสวิชา PC54505 3(2-2-5)วิชานวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา
Innovation, Technology and Information in Educationสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษา
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
ภาคเรียน1/2556
________________________
คำอธิบายรายวิชา
ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี นวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา ที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ การวิเคราะห์ ปัญหาที่เกิดจากการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศ แหล่งเรียนรู้และเครือข่ายการ เรียนรู้ การสร้าง การออกแบบ การนำไปใช้ การประเมินผล การปรับปรุงนวัตกรรม สามารถเลือกใช้ ออกแบบ สร้าง ปรับปรุงนวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศสำหรับการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาที่จะรับผิดชอบสอนใน อนาคตได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับระดับการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี สามารถแสวงหาแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย และเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน
วัตถุประสงค์
เมื่อผู้เรียนศึกษาเนื้อหาบทเรียนจบตามหลักสูตรแล้วจะมีพฤติกรรมหรือความสามารถดังนี้
1. อธิบายความหมายของนวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศได้
2. ยกตัวอย่างนวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้
3. ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของนวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศได้
4. บอกถึงปัญหาที่เกิดจากการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศได้
5. บอกความหมายและประเภทแหล่งเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้ได้
6. อธิบายพื้นฐานการออกแบบการเรียนการสอนได้
7. อธิบายรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้
8. ยกตัวอย่างรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้
9. อธิบายวิธีการเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมได้
10. เสนอแนวทางในการสร้าง ปรับปรุงนวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศสำหรับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาได้อย่างน้อย 1 รายวิชา
11. สามารถแสวงหาแหล่งการเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมได้
12. ยกตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศได้อย่างน้อย 3 เรื่อง
รูปแบบการเรียนการสอน
เป็นการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online Learning) กับการเรียนการสอนแบบเผชิญหน้าในชั้นเรียนปกติ(Face-to-Face or Traditional Learning)
วิธีสอน
ใช้วิธีสอนแบบเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning) และวิธีสอนแบบร่วมมือ ( Cooperative Learning)
เนื้อหาบทเรียน
หน่วยการเรียนที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศ
หน่วยการเรียนที่ 2 หลักการ แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวนวัตกรรม เทคโนโลยี และสารมสนเทศ
หน่วยการเรียนที่ 3 การสื่อสารเพื่อการเรียนการสอน
หน่วยการเรียนที่ 4 จิตวิทยาการเรียนการสอน
หน่วยการเรียนที่ 5 การออกแบบการเรียนการสอน
หน่วยการเรียนที่ 6 นวัตกรรมการเรียนการสอน
หน่วยการเรียนที่ 7 คอมพิวเตอร์
หน่วยการเรียนที่ 8 เครือข่ายอินเตอร์เน็ต
หน่วยการเรียนที่ 9 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเรียนการสอน
หน่วยการเรียนที่ 10 แนวโน้มในอนาคตเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศกับการศึกษาหรือการเรียนการสอน
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น